การโค่นล้มพระนโรดม สีหนุ (พ.ศ. 2513) ของ สงครามกลางเมืองกัมพูชา

รัฐประหารของลน นล

เมื่อพระนโรดม สีหนุออกเดินทางไปยังฝรั่งเศส ได้มีกลุ่มต่อต้านเวียดนามซึ่งได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาลออกมาประท้วงที่สถานทูตเวียดนามเหนือและเวียดกง ลน นลไม่ได้พยายามทำให้การประท้วงสิ้นสุดลง ในวันรุ่งขึ้น กลับสั่งปิดท่าเรือสีหนุวิลล์ไม่ให้เวียดนามเหนือใช้ และประกาศขับไล่ทหารเวียดกงออกไปจากกัมพูชาภายในวันที่ 15 มีนาคม ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2513 ได้จัดให้มีการประชุมสภาเกี่ยวกับอนาคตของพระนโรดม สีหนุ ในฐานะประมุขรัฐ ซึ่งสภาลงมติ 92 – 0 ปลดพระนโรดม สีหนุออกจากประมุขรัฐ เจง เฮงได้เป็นประธานสมัชชาแห่งชาติ ลน นลเป็นนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระสีสุวัตถิ์ สิริมตะเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่คงอยู่เพื่อให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มีข้อสงสัยว่าสหรัฐอยู่เบื้องหลังการปลดพระนโรดม สีหนุแต่ไม่มีหลักฐาน

ชนชั้นกลางส่วนใหญ่และชาวกัมพูชาที่มีการศึกษายอมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบใหม่เพราะหมายถึงการได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐและมีกองทหารสหรัฐเข้ามาในประเทศ พระนโรดม สีหนุที่เดินทางไปยังปักกิ่งได้ประกาศผ่านทางวิทยุเรียกร้องให้ประชาชนที่สนับสนุนพระองค์ออกมาประท้วง ซึ่งมีผู้ประท้วงออกมาในหลายจังหวัดแต่ที่รุนแรงที่สุดคือจังหวัดกำปงจาม ในวันที่ 29 มีนาคม ฝูงชนได้ฆ่าลน นิล น้องชายของลน นลและตัดเอาตับไปปรุงอาหาร มีผู้ประท้วงให้สีหนุกลับมาในพนมเปญราว 40,000 คน ก่อนที่จะสงบลง และกลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ

การสังหารหมู่ชาวเวียดนาม

กลุ่มชนส่วนใหญ่ทั้งในเมืองและในชนบทได้แสดงความโกรธแค้นและระบายใส่กลุ่มชนชาวเวียดนาม ลน นลได้จัดตั้งกองทหารเพื่อกวาดล้างชาวเวียดนามราว 400,000 คนเพื่อเป็นการต่อต้านเวียดกง มีการจับชาวเวียดนามไปเข้าค่ายกักกันแล้วฆ่าทิ้งภายหลัง ในวันที่ 15 เมษายน มีร่างของชาวเวียดนาม 800 คนลอยในแม่น้ำโขงเข้าไปสู่เวียดนามใต้ ทั้งเวียดนามใต้ เวียดนามเหนือและเวียดกงประณามการสังหารหมู่ครั้งนี้[16] ซึ่งลน นลได้กล่าวต่อรัฐบาลไซ่ง่อนว่าเป็นการยากที่จะแยกชาวเวียดนามที่บริสุทธิ์ออกจากพวกเวียดกง จึงควบคุมการทำงานของทหารได้ยาก[17]

แนวร่วมสหชาติกัมพูชาและรัฐบาลพลัดถิ่น

ที่ปักกิ่ง พระนโรดม สีหนุได้ประกาศการสลายตัวของรัฐบาลที่พนมเปญและได้ประกาศตั้งแนวร่วมสหชาติเขมร ซึ่งพระองค์กล่าวภายหลังงว่าลน นลเป็นผู้ทำให้พระองค์ตัดสินใจทำแบบนี้ เวียดนามเหนือตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกัมพูชาโยส่งนายกรัฐมนตรี ฝ่าม วัน ด่ง เข้าพบพระนโรดม สีหนุที่จีน เพื่อสนับสนุนการที่พระองค์จะเข้ามาเป็นพันธมิตรกับเขมรแดง ในขณะนั้น พล พตได้ติดต่อกับเวียดนามซึ่งสนับสนุนอาวุธในการสู้รบกับรัฐบาลกัมพูชา พล พตและสีหนุอยู่ในปักกิ่งในเวลาเดียวกัน แต่ทั้งจีนและเวียดนามไม่เคยแจ้งให้สีหนุทราบ และไม่ได้ให้ทั้งสองคนพบกัน หลังจากนั้นไม่นาน พระนโรดม สีหนุได้ประกาศทางวิทยุไปถึงประชาชนกัมพูชาให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลและสนับสนุนเขมรแดง พระนโรดม สีหนุได้นำพระนามและความนิยมต่อพระองค์ในเขตชนบท ไปให้กับขบวนการที่พระองค์ควบคุมได้น้อยมาก ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 พล พตกลับมายังกัมพูชา หลังจากที่พระนโรดม สีหนุประกาศสนับสนุนเขมรแดงทำให้เขมรแดงได้รับความนิยมและมีทหารมากขึ้น

พระนโรดม สีหนุได้ประกาศวาพระองค์เป็นพันธมิตรกับเขมรแดง เวียดนามเหนือ ขบวนการปะเทดลาว และเวียดกงซึ่งเท่ากับว่าพระองค์สนับสนุนฝ่ายคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 5 พฤษภาคม พระองค์ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลราชอาณาจักรสหภาพแห่งชาติกัมพูชา พระนโรดม สัหนุมีสถานะเป็นประมุขรัฐ เปน โนตเป็นนายกรัฐมนตรี เขียว สัมพันเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหาร แม้ว่าผู้บัญชาการทหารตัวจริงคือพล พต ฮู นิมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ ฮู ยวนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การปฏิรูปชนบทและการสหกรณ์ รัฐบาลราชอาณาจักรสหภาพแห่งชาติแห่งกัมพูชาประกาศตัวเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น โดยเขียว สัมพันเป็นผู้แทนในกัมพูชา พระนโรดม สีหนุและผู้จงรักภักดีพำนักอยู่ในจีน แม้ว่าพระองค์จะเคยเสด็จมาเยี่ยมเยือนพื้นที่ปลดปล่อย เช่น นครวัดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2516 แต่การเสด็จมาก็เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ ไม่ได้มีอิทธิพลในทางการเมือง

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม